ข่าวไฟล์ภาพถ่ายจากฟิล์มต้นฉบับ พระพิมลธรรม(นาค สุมนนาโค) อดีตเจ้าอาวาสวัดอรุณราชวราราม รูปที่ 10 - kachon.com

ไฟล์ภาพถ่ายจากฟิล์มต้นฉบับ พระพิมลธรรม(นาค สุมนนาโค) อดีตเจ้าอาวาสวัดอรุณราชวราราม รูปที่ 10
วัตถุมงคลคณาจารย์ รุ่นต่างๆ

photodune-2043745-college-student-s

ไฟล์ภาพถ่ายจากฟิล์มต้นฉบับ พระพิมลธรรม(นาค สุมนนาโค) อดีตเจ้าอาวาสวัดอรุณราชวราราม รูปที่ 10

นับเป็นความปลื้มปิติยินดีของคณะสงฆ์วัดอรุณราชวรารามและลูกหลานชาววัดอรุณ ที่มีความรักเคารพและเลื่อมใสในองค์พระเดชพระคุณหลวงปู่ พระพิมลธรรม(นาค สุมนนาโค) อดีตเจ้าอาวาสวัดอรุณราชวราราม รูปที่ 10 ต้นตำรับตะกรุดหนังหน้าผากเสือวัดอรุณ อันโด่งดังไปทั่วประเทศ

ที่ทางลูกหลานของท่านสายวัดเทียนถวาย ปทุมธานี ที่เคยเดินทางมารับใช้อยู่กับท่านตั้งแต่ตอนท่านจำพรรษาอยู่วัดสุทัศน์ ในปี 2463 และตามท่านมาอยู่ที่วัดอรุณในประมาณปี 2476 หลังท่านไปเป็นประธานจัดงานศพพระอาจารย์ท่านคือ หลวงปู่สว่าง วัดเทียนถวาย ปทุมธานี คือ 1.คุณตากุ 2.คุณตาม้วน 3.คุณตามิ่ง

ทั้งสามท่านนี้เป็นคุณตาของ คุณอนุสิษฐ์ บุญมาก ซึ่งเป็นผู้ได้รับมรดกตกทอดสมบัติชิ้นสำคัญจากคุณตาทั้งสามคือ ไฟล์ภาพจากฟิล์มต้นฉบับของพระเดชพระคุณหลวงปู่ พระพิมลธรรม(นาค สุมนนาโค) อดีตเจ้าอาวาสวัดอรุณราชวราราม รูปที่ 10 ต้นตำรับตะกรุดหนังหน้าผากเสือวัดอรุณ อันโด่งดัง

ซึ่งคุณอนุสิษฐ์ บุญมาก ได้รับการประสานจาก คุณวิทย์ วัดอรุณ(อัครวิทย์ รัตนประสิทธิ์) แจ้งให้ทราบว่าทางคณะสงฆ์วัดอรุณราชวราราม โดยพระเดชพระคุณหลวงพ่อ พระธรรมรัตนดิลก กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะภาค9 เจ้าอาวาสวัดอรุณราชวราราม กำลังตามหาภาพต้นฉบับของท่านเพื่อรวบรวมเข้าไว้เพื่อทำประวัติของอดีตเจ้าอาวาสวัดอรุณราชวรารามฉบับสมบูรณ์

โดยได้สั่งการให้ ท่านพระครูปลัดดิลกวัฒน์(ชุมพร นิติสาโร) เลขานุการวัดอรุณราชวราราม - ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดอรุณราชวราราม และท่านพระครูวินัยธร จีรเดช จิรเตโช ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดอรุณราชวราราม เป็นผู้ติดต่อดำเนินการ ซึ่งเมื่อคุณอนุสิษฐ์ บุญมาก ได้รับทราบถึงวัตถุประสงค์ของทางคณะสงฆ์วัดอรุณราชวรารามแล้ว ก็ยินดีน้อมถวายไฟล์ภาพถ่ายของท่านจากฟิล์มต้นฉบับ

พระพิมลธรรม(นาค สุมนนาโค) กลับคืนสู่วัดอรุณราชวราราม เพราะลูกหลานของท่านทางวัดเทียนถวาย ปทุมธานี ก็มีความต้องการที่จะมอบภาพสำคัญภาพนี้กลับคืนสู่วัดอรุณราชวราราม เพื่อเป็นการเผยแพร่พระเกียรติคุณขององค์ หลวงปู่นาค สุมนนาโค ที่ได้สร้างคุณงามความดี สร้างความเจริญรุ่งเรืองแก่วัดอรุณราชวรารามอย่างสูงสุดในยุคของท่าน

 

คุณอัครวิทย์ รัตนประสิทธิ์(วิทย์ วัดอรุณ) ยังได้ไหว้วานให้ คุณพรชัย สร้อยทอง กราฟฟิกดีไซเนอร์ผู้มีความชำนาญในการตบแต่งภาพ ให้ช่วยตบแต่งภาพต้นฉบับของ หลวงปู่นาค สุมนนาโค ซึ่งมีความเก่าแก่และชำรุดไปตามกาลเวลาให้กลับมามีความคมชัด และยังได้ตบแต่งให้เป็นภาพสีคล้ายภาพในยุคปัจจุบันโดยไม่ทำให้ภาพต้นฉบับผิดเพี้ยนได้อย่างสมจริง

เพื่อให้ภาพถ่ายแต่งสี พระพิมลธรรม(นาค สุมนนาโค) อดีตเจ้าอาวาสวัดอรุณราชวราราม รูปที่ 10 เป็นภาพต้นฉบับที่สมบูรณ์สวยงาม เป็นสมบัติอันทรงคุณค่าทางจิตใจของคณะสงฆ์วัดอรุณราชวรารามและลูกหลานชาววัดอรุณ และ คุณวิทย์ วัดอรุณ(อัครวิทย์ รัตนประสิทธิ์) จะได้จัดสร้างภาพสี พระพิมลธรรม(นาค สุมนนาโค) ขนาดใหญ่

เพื่อนำกลับน้อมถวายแด่ พระเดชพระคุณหลวงพ่อ พระธรรมรัตนดิลก กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะภาค9 เจ้าอาวาสวัดอรุณราชวราราม เพื่อถวายภาพและไฟล์ภาพถ่ายจากฟิล์มต้นฉบับของท่าน กลับคืนเป็นสมบัติของวัดอรุณราชวราราม เพื่อให้คณะสงฆ์วัดอรุณราชวรารามได้จัดสถานอันควรให้ลูกหลานชาววัดอรุณได้สักการะบูชาสืบต่อไป

หนังสือพิมพ์กะฉ่อนดอมคอม แว่น วัดอรุณ รายงาน

พระพิมลธรรม(นาค) อดีตเจ้าอาวาสวัดอรุณราชวราราม รูปที่ 10

พระพิมลธรรม อดีตเจ้าอาวาสวัดอรุณราชวราราม รูปที่ 10 นามเดิมว่า นาค นามฉายา สุมนนาโค เป็นชาวบ้านบางพูน จังหวัดปทุมธานี เกิดในรัชกาลที่ ๕ เมื่อวันศุกร์ เดือนยี่ ขึ้น ๕ ค่ำ ปีวอก จ.ศ.๑๒๓๔ ตรงกับวันที่ ๓ มกราคม พ.ศ.๒๔๑๕ เมื่ออายุ ๑๒ ปี บรรพชาเป็นสามเณรอยู่กับพระครูธรรมานุสารี(สว่าง) วัดเทียนถวาย แต่ยังเป็นเจ้าอธิการอยู่วัดสารพัดช่าง ที่กรุงเทพฯ

จนเมื่ออายุครบอุปสมบท อาจารย์จึงได้พามาถวายสมเด็จพระวันรัต(แดง) แต่เมื่อยังเป็น พระธรรมวโรดม จึงได้อยู่วัดสุทัศน์แต่นั้นมา เมื่อปีมะโรง พ.ศ.๒๔๓๕ อุปสมบทที่วัดสุทัศน์   โดยมี สมเด็จพระวันรัต(แดง) เป็นพระอุปัชฌาย์ ครั้นอุปสมบทแล้ว ศึกษาพระปริยัติธรรมกับสมเด็จพระวันรัต(แดง) บ้าง พระยาธรรมปรีชา(ทิม) บ้าง 

เข้าแปลพระปริยัติธรรมเมื่อปีขาล พ.ศ.๒๔๓๓ ได้เป็นเปรียญ ๔ ประโยค ปีมะเมีย พ.ศ.๒๔๓๗ แปลพระปริยัติธรรมได้อีก ๒ ประโยค รวมเป็น ๖ ประโยค และในปีจอ พ.ศ.๒๔๔๑ แปลพระปริยัติธรรมได้อีก ๑ ประโยค รวมเป็น ๗ ประโยค ทรงโปรดให้เป็นพระราชาคณะตามลำดับคือ ปีกุน พ.ศ.๒๔๔๒ เป็นพระศรีสมโพธิ ปีมะเมีย พ.ศ.๒๔๖๑ เป็นพระราชเวที ปีระกา พ.ศ.๒๔๖๔

เป็นพระเทพสุธี วันที่ ๑๘ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๖๘  ปีฉลู พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ โปรดให้มาครองวัดอรุณราชวราราม ปีขาล  พ.ศ.๒๔๖๙ เป็นพระธรรมดิลก ปีระกา พ.ศ.๒๔๗๖ เป็นพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ ปีเถาะ พ.ศ.๒๔๘๒ เป็นพระพิมลธรรม พระพิมลธรรม (นาค) มรณภาพเมื่อวันเสาร์ที่ ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๘๘ ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๘ เวลา ๑๕.๑๐ น. อายุได้ ๗๒ ปี  ๖ เดือน 

หลวงปู่นาคท่านมีความรู้ทั้งในด้านพระปริยัติธรรมและวิปัสสนากรรมฐาน พร้อมทั้งยังมีวิทยาคมสูงมาก ท่านได้ศึกษาวิชาต่างๆ จากหลวงพ่อหว่าง วัดเทียนถวายจนหมดสิ้น ทั้งวิชาลงหนังหน้าผากเสือ วิชาลงผ้าประเจียดแดง ซึ่งเป็นที่ลือเลื่องของหลวงพ่อหว่าง ขนาดมีนกมาเกาะอยู่ในบริเวณวัด เคยมีคนมาลองยิงยังยิงไม่ออก

ภาพถ่ายข้าวหลามตัด หลวงปู่นาค วัดอรุณ ปี พ.ศ. 2475 ด้านหน้า-ด้านหลัง ของ คุณวิทย์ วัดอรุณ(อัครวิทย์ รัตนประสิทธิ์)

หลวงปู่นาคท่านได้เคยแจกรูปถ่ายติดกระจกข้าวหลามตัดในปี พ.ศ.2475 เนื่องในโอกาสทำบุญครบ 5 รอบอายุ 60 ปี ซึ่งจริงๆแล้วท่านหลวงปู่นาค ท่านไม่มีเจตนาจะสร้างรูปกระจกข้าวหลามตัดนี้เลย แต่ด้วยเพราะบรรดาลูกศิษย์ลูกหาของท่านในสมัยนั้นเห็นว่าปีนี้เป็นงานฉลองวันเกิดครบ 5 รอบอายุ 60 ปีของท่าน และก็อยากจะได้รูปถ่ายของท่านไว้บูชาเพื่อเป็นศิริมงคลกัน

ตะกรุดหนังหน้าผากเสือ หลวงปู่นาค วัดอรุณ แบบมีเชือกควั่นลงรักปิดทอง และแบบไม่มีเชือกควั่นลงรัก ยุคต้นๆของท่านที่ทำแจกหายากมากๆทั้งสองดอกของ คุณวิทย์ วัดอรุณ(อัครวิทย์ รัตนประสิทธิ์)

จึงได้ไปขอให้ท่านหลวงปู่นาคสร้างรูปถ่ายติดกระจกข้าวหลามตัด ท่านหลวงปู่นาคจึงบอกว่าถ้าอย่างนั้นท่านไม่ขอยุ่งเกี่ยว ถ้าอยากได้กันจริงๆก็ให้ไปหาท่านพระอาจารย์พา วัดระฆังเพื่อขอคำแนะนำเพราะท่านพระอาจารย์พา วัดระฆังท่านได้ทำรูปถ่ายติดกระจกข้าวหลามตัดแบบนี้ขึ้นมาก่อนเมื่อปี 2471 เมื่อทำรูปถ่ายติดกระจกข้าวหลามตัดเสร็จแล้ว ลูกศิษย์จึงนำมาถวายท่านหลวงปู่นาคให้ท่านปลุกเสก และแจกในงานฉลองวันเกิดครบ 5 รอบอายุ 60 ปีของท่านดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

ตะกรุดหนังหน้าผากเสือ หลวงปู่นาค วัดอรุณดอกนี้แบบมีเชือกควั่นลงรักปิดทองยุคต้นๆของท่านที่ทำแจกหายากมากๆของ คุณวิทย์ วัดอรุณ

และท่านหลวงปู่นาคท่านยังได้สร้างตะกรุดหนังหน้าผากเสือวัดอรุณ เพื่อไว้แจกแก่ลูกศิษย์ที่ใกล้ชิดจะไม่แจกพร่ำเพรื่อ เพราะตามตำราการทำตะกรุดหนังหน้าผากเสือของท่านหลวงปู่นาคที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากหลวงพ่อหว่าง วัดเทียนถวายนั้น ท่านจะต้องทำพิธีปลุกเสกตะกรุดหนังหน้าผากเสือวัดอรุณ ของท่านได้เฉพาะปีที่มีเสาร์ห้าเท่านั้น ซึ่งในสมัยนั้นหากลูกศิษย์ลูกหาคนใดอยากได้ ตะกรุดหนังหน้าผากเสือวัดอรุณของท่านหลวงปู่นาคเอาไว้บูชา

ตะกรุดหลวงปู่นาค วัดอรุณ ที่ชนะการประกวดมาสองงานของ คุณวิทย์ วัดอรุณ

ส่วนใหญ่จะพากันมาสั่งหนังเสือที่ร้านเจ้ากรมเป๋อหน้าวัดสามปลื้ม เหตุเพราะในสมัยนั้นใครมีของป่าและยาสมุนไพรป่าก็จะนิยมนำมาขายหรือฝากขายที่ร้านนี้ เมื่อได้มาแล้วจะนำส่วนหน้าผากของเสือมาตัดแบ่งตามขนาดใหญ่เล็กแล้วแต่ขนาดของหน้าผากเสือที่ได้มา ถ้าเล็กก็ประมาณ 1 นิ้วหากใหญ่ก็ไม่เกิน 2 นิ้วต่อ 1 ชิ้นหนังหน้าผากเสือ

ใบประกาศที่ชนะการประกวด ตะกรุดหลวงปู่นาค วัดอรุณของ คุณวิทย์ วัดอรุณใบที่ 1

ซื่งเสือหนึ่งตัวจะสามารถตัดแบ่งหนังหน้าผากได้ไม่กี่ชิ้น จากนั้นจะนำมาแช่น้ำเพื่อขูดขนออกให้เกลี้ยง แล้วนำมาฝนให้หนังหน้าผากเสือมีความหนาที่บางลง เพื่อง่ายต่อการจารและม้วนเป็นตะกรุด เมื่อได้หนังหน้าผากเสือตามขนาดที่ต้องการแล้วก็จะนำมาถวายให้ท่าน หลวงปู่นาคท่านจะทำพิธีจารอักขระเลขยันต์ตามสูตร เมื่อจารอักขระเลขยันต์เสร็จแล้ว ท่านจะทำการม้วนตะกรุดโดยใช้ด้ายสายสินเล็กๆมาควั่นเพื่อมัดให้หนังเสือแห้งอยู่ตัวไม่คลายออก

ใบประกาศที่ชนะการประกวด ตะกรุดหลวงปู่นาค วัดอรุณของ คุณวิทย์ วัดอรุณใบที่ 2

ซึ่งในยุดหลังๆปลายชีวิตท่านหลวงปู่นาค ท่านจะให้พระเณรหรือลูกศิษย์วัดในกุฎิของท่านทำการควั่นเชือกตะกรุดแทนท่านเมื่อเสร็จในขั้นตอนนี้แล้ว ก็จะทำการลงรักเพื่อรักษาให้หนังเสือมีการรัดตัวและมีอายุการใช้งานคงทนยืนนาน ซึ่งหนังเสือที่นำมาลงรักนั้นจะมีทั้งยังมีเชือกที่ควั่นไว้และไม่มีเชือกที่ควั่นไว้ก็มี และมีทั้งการลงรักแล้วปิดทองและไม่ปิดทองก็มี

ตะกรุดหนังหน้าผากเสือ หลวงปู่นาค วัดอรุณของคุณอนุสิษฐ์ บุญมาก ที่ได้รับตกทอดจากคุณตาคุณตามิ่ง(ยังมีชีวิตอยู่) ซึ่งดอกนี้คุณตามิ่งได้รับจากมือท่านหลวงปู่นาค ในสมัยเป็นเด็กวัดที่ตามมารับใช้ท่านที่วัดอรุณหลังงานปลงศพของหลวงพ่อหว่าง วัดเทียนถวายในปี พ.ศ.2476

เมื่อเสร็จสมบูณ์เป็นตะกรุดหนังหน้าผากเสือแล้วท่านหลวงปู่นาค ท่านจะเริ่มปลุกเสกของท่านไปเรื่อยๆเพื่อรอให้ถึงฤกษ์เสาร์ห้าในปีนั้นๆจึงจะทำพิธีปลุกเสกใหญ่ในวันเสาร์ห้าอีกครั้ง เมื่อเสร็จจากพิธีปลุกเสกใหญ่ในวันเสาร์ห้าแล้วท่านหลวงปู่นาค ท่านจึงจะทำการแจกจ่ายกับศิษย์ที่ศัทธาหรือศิษย์ที่ได้นำหนังหน้าผากเสือมาไว้ให้ท่านทำพิธีให้ จะเห็นได้ว่าด้วยขั้นตอนวิธีการทำที่สลับซับซ้อนของการสร้างตะกรุดหนังหน้าผากเสือของท่านหลวงปู่นาค วัดอรุณ จึงทำให้ได้ตะกรุดหนังหน้าผากเสือวัดอรุณ ที่มีจำนวนค้อนข้างน้อย

ตะกรุดหนังหน้าผากเสือ หลวงปู่นาค วัดอรุณของลูกชายคุณตาม้วนซึ่งเป็นคุณลุงของคุณอนุสิษฐ์ บุญมาก ที่ได้รับตกทอดจากคุณตาม้วน(เสียชีวิตแล้ว) ซึ่งดอกนี้คุณตาม้วนพี่ชายคนกลางของคุณตามิ่ง ก็ได้รับจากมือท่านหลวงปู่นาค ในสมัยเป็นเด็กวัดที่ตามมารับใช้ท่านที่วัดอรุณหลังงานปลงศพของหลวงพ่อหว่าง วัดเทียนถวายในปี พ.ศ.2476

และมีจำนวนการสร้างที่มีจำนวนจำกัดเป็นอย่างยิ่ง จึงทำให้เป็นที่ใฝ่หาของบรรดาท่านที่นิยมศรัทธาในองค์หลวงปู่นาค วัดอรุณ เป็นอย่างยิ่ง จนในยุคปัจจุบันนี้จะหาตะกรุดหนังหน้าผากเสือวัดอรุณ ของท่านจริงๆชมกันได้ยากยิ่ง ตะกรุดหนังหน้าผากเสือของท่านหลวงปู่นาค วัดอรุณ นั้นเข้มขลังมาก มีประสบการณ์มากมาย ถึงขนาดใครใส่ตะกรุดหนังหน้าผากเสือของท่านเดินผ่านคอกวัวควายในสมัยนั้น วัวควายยังตื่นกลัววิ่งหนีแตกตื่นกันอย่างลนลาน

เด็กชายทั้งสามท่านในภาพนี้ เคยไปรับใช้อยู่กับหลวงปู่นาค เริ่มแรกเป็นคุณตากุ ตอนอยู่วัดสุทัศน์ ปี 2463 และตามมาคุณตาม้วน ตามิ่ง ประมาณปี 2476 หลังจัดงานศพท่านอาจารย์ท่าน หลวงปู่สว่าง วัดเทียนถวาย ปทุมธานีทั้งสามท่านนี้เป็นคุณตาของ คุณอนุสิษฐ์ บุญมาก

ป.ล.ขั้นตอนการสร้างตะกรุดหนังหน้าผากเสือของท่านหลวงปู่นาค วัดอรุณ ทั้งหมดที่ได้กล่าวมานี้ เป็นเรื่องที่ผู้เขียนสงสัยมาหลายสิบปี เพราะเป็นเพียงการได้ฟังมาจากคุณลุงกวี อรรถโกวิท ซึ่งท่านก็ฟังมาจากคุณปู่กร อรรถโกวิท ซึ่งเป็นพ่อของท่านอีกที จึงยังมีข้อสงสัยในใจอยู่อีกหลายอย่าง แต่เมื่อได้มารู้จักกับคุณอนุสิษฐ์ บุญมาก ซึ่งคุณตาทั้งสามท่านของคุณอนุสิษฐ์ บุญมาก ท่านเคยมารับใช้ท่านหลวงปู่นาคอยู่ที่วัดอรุณในสมัยที่ท่านหลวงปู่นาคท่านยังมีชีวิตอยู่ คือ 1.คุณตากุ 2.คุณตาม้วน 3.คุณตามิ่ง ก่อนที่พวกท่านและชาวปทุมธานีอีกหลายท่าน จะเดินทางกลับไปอยู่ที่วัดเทียนถวายเมื่อท่านหลวงปู่นาคท่านได้มรณะภาพลง ผู้เขียนจึงได้ไหว้วานขอให้คุณอนุสิษฐ์ บุญมากไปช่วยสอบถามถึงขั้นตอนการสร้างตะกรุดหนังหน้าผากเสือของท่านหลวงปู่นาค วัดอรุณ จากคุณตามิ่งให้อีกครั้ง เพื่อยืนยันถึงสิ่งที่ได้รับรู้มาจากคุณลุงกวี อรรถโกวิท ว่าจะตรงกันหรือไม่(ซึ่งขณะที่ทำการบันทึกนี้ คุณตามิ่งท่านยังมีชีวิตอยู่) ก็ได้ข้อมูลที่ตรงกันคือ "เมื่อม้วนตะกรุดหนังหน้าผากเสือเสร็จแล้ว ท่านหลวงปู่นาคท่านจะเอาด้ายสายสินเส้นเล็กๆสีขาวมาควั้นเพื่อยึดตะกรุดหนังหน้าผากเสือของท่านไว้เพื่อไม่ให้คลายตัวออก" จึงได้ลงบันทึกการสร้างตะกรุดหนังหน้าผากเสือของท่านหลวงปู่นาค วัดอรุณ ที่ถูกต้องนี้ไว้ เพื่อมิให้ขั้นตอนการสร้างตะกรุดหนังหน้าผากเสือของหลวงปู่นาค วัดอรุณที่ถูกต้องได้สูญหายไป

ขอขอบคุณข้อมูลดีๆและภาพถ่ายจาก คุณอนุสิษฐ์ บุญมาก ซึ่งคุณตาของคุณอุสิษฐ์ทั้งสามท่านเคยมาเป็นเด็กวัดดูแลรับใช้อยู่กับหลวงปู่นาค ที่วัดสุทัศน์ตลอดจนถึงวัดอรุณ ท่านทั้งสามได้เล่าเหตุการณ์ตอนที่ท่านได้มาดูแลรับใช้ท่านหลวงปู่นาคให้แก่คุณอนุสิษฐ์ฟังอย่างละเอียด เริ่มแรกคือคุณตากุ(เสียชีวิตแล้ว) ตอนที่อยู่วัดสุทัศน์ ปี พ.ศ. 2463 และต่อมาเป็นคุณตาม้วน(เสียชีวิตแล้ว)และตามิ่ง(ยังมีชีวิตอยู่ ปัจจุบันอายุเก้าสิบกว่าปี) สองท่านหลังตามท่านหลวงปู่นาค มาจากปทุมธานี หลังจากที่ท่านหลวงปู่นาคไปเป็นแม่งานจัดงานศพปลงให้กับท่านพระอาจารย์ของท่านคือ หลวงปู่สว่าง วัดเทียนถวาย ที่ปทุมธานี เมื่อปี พ.ศ. 2476 ท่านที่สองที่ทางทีมงานกระฉ่อนต้องขอขอบคุณคือ คุณวิทย์ วัดอรุณ ที่ได้ให้ข้อมูลเชิงลึกบางส่วนที่ท่านได้ฟังจากคุณลุงกวี อรรถโกวิท(เสียชีวิตแล้ว) ซึ่งคุณลุงกวีท่านก็ได้ฟังตกทอดมาจาก คุณปู่กร อรรถโกวิท(เสียชีวิตแล้ว) พ่อของท่านซึ่งเป็นคนเก่าคนแก่ผู้รู้จริงและทันในเหตุการสร้างวัตถุมงคลของ หลวงปู่นาค และวัตถุมงคลของวัดอรุณในยุคก่อนปี พ.ศ.2500 อีกหลายรุ่นหลายพิธี และคุณวิทย์ วัดอรุณ(อัครวิทย์ รัตนประสิทธิ์) ยังได้เอื้อเฟื้อภาพวัตถุมงคแท้ๆของ หลวงปู่นาค วัดอรุณ ที่หาชมได้ยากแล้วในปัจจุบันนี้มาให้ชมกัน

ขอบันทึกไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์และเทอดเกียรติคุณแด่ ท่านพระพิมลธรรม(นาค สุมนนาโค) พระผู้เป็นที่รักและเคารพยิ่งของพวกเราชาววัดอรุณ บันทึกเมื่อ วันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2556

ร่วมบันทึกโดย วิทย์ วัดอรุณ

หนังสือพิมพ์กะฉ่อนดอมคอม แว่น วัดอรุณ รายงาน

.......

บารมีเหรียญพระเจ้าตากชาววัดอรุณ รุ่นกรุงธนบุรี ช่วยชีวิตหนุ่มใหญ่ให้รอดตายจากเหตุรถพลิกคว่ำ
https://sacred.kachon.com/353935

.......

ประมวลปาฏิหาริย์แห่งเหรียญสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชชาววัดอรุณ(คลิ๊ก)
https://sacred.kachon.com/353522

.....

ร้านเช่าบูชาวัตถุมงคล by กะฉ่อนดอทคอม(คลิ๊ก)
https://shop.kachon.com 

.....

แผนที่การเดินทาง ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชชาววัดอรุณ
https://maps.app.goo.gl/bkTe1MN4d8v8hicW8
.....
https://lin.ee/C9eHtP8

ชมภาพทั้งหมด คลิ๊ก
ชมคลิปทั้งหมด คลิ๊ก

ชมภาพทั้งหมด คลิ๊ก
ชมคลิปทั้งหมด คลิ๊ก

ชมภาพทั้งหมด คลิ๊ก
ชมคลิปทั้งหมด คลิ๊ก

ชมภาพทั้งหมด คลิ๊ก
ชมคลิปทั้งหมด คลิ๊ก

ชมภาพทั้งหมด คลิ๊ก
ชมคลิปทั้งหมด คลิ๊ก